เมื่อเอ่ยถึงชื่อ อ.บางปลาม้า แทบทุกคนจะต้องนึกถึงภาพคนที่ใส่ชุดชาวนา พูดภาษาเหน่อ ๆ ท่าทางซื่อ ๆ ยืนอยู่บนคันนา ซึ่งมีทุ่งนาล้อมรอบ มองไปสุดลูกหูลูกตา จะเห็นทุ่งนาซึ่งมีต้นข้าวเขียวขจี ยามเมื่อมีลมพัดมาจะเห็นต้นข้าวและรวงข้าวโยกไปมา สลับกับการเยื้องย่างของเจ้าทุย ยามต้นข้าวโยกเมื่อต้องลมจะส่งเสียงคล้ายดนตรีขับกล่อมให้ฟัง
ยามค่ำคืนเดือนหงาย แสงเดือนสาดส่องทั่วท้องทุ่งนา กระทบกับใบข้าวซึ่งโบกพริ้วไปมา มองเห็นเป็นสีเงินเห็นระยิบระยับไปทั่วทุ่ง เหมือนแสดงให้รู้ว่านี้คือทุ่งเงินทุ่งทอง ที่จะเลี้ยงชีวิตชาวนาไปตลอดชีวิต ถ้าหากดูแลรักษาทุ่งนาแห่งนี้ไว้ให้ดี.
อำเภอบางปลาม้า เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี มีประชากร จำนวน 78,502 คน (สำรวจปี พ.ศ.2524) มีเขตการปกครองทั้งหมด 13 ตำบล ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพในทางเกษตรกรรมและกสิกรรม ถึง 90 % การคมนาคมไม่สะดวกเนื่องจากไม่มีถนนตัดผ่านเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งนา ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมในบางพื้นที่ต้องใช้เรือในการเดินทาง และมาต่อด้วยการเดินเท้า หรือเกวียน เวลามีคนเจ็บป่วย จะยากลำบากในการนำคนเจ็บส่ง โรงพยาบาลในจังหวัด เพราะต้องใช้เวลาในการเดินทางมาก บางรายโชคดีก็ถึงก่อนตาย บางรายโชคร้ายก็ตายก่อนถึง
ปลายปี พ.ศ. 2523 ท่านพระครูภาวนาภิมณฑ์ ( ประสาท โพธิ์ทอง ) เจ้าอาวาสวัดกลาง รองเจ้าคณะอำเภอบางปลาม้า ในขณะนั้น ได้รับการขอความร่วมมือจากคุณปิยะพงษ์ แย้มละออ สาธารณสุขอำเภอบางปลาม้า ให้ช่วยจัดหาที่ดินที่เหมาะสมสักแห่งหนึ่ง เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอบางปลาม้า ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- เนื้อที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ ผู้บริจาคพร้อมหักโอนให้แก่ทางราชการทันที โดยไม่มีข้อผูกพัน
- ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ไม่เกิน 3 กิโลเมตร
- อยู่ใกล้เส้นทางถนนใหญ่ และไม่ไกลจากตัวจังหวัดเกินไป
- มีระบบประปา ไฟฟ้า ที่จะติดตั้งเข้าสู่โรงพยาบาลได้สะดวก
- มีซอยเชื่อมโยงกับถนนใหญ่ได้
- พื้นที่ไม่ลุ่มเกินไป พอสามารถถมได้พ้นน้ำได้ และ
- ประชาชนมีงบประมาณพอจะช่วยแก่ทางราชการได้บ้างตามสมควร
ท่านพระครูภาวนาภิมณฑ์ เห็นว่าการสร้างโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อประชาชน จึงรับปากกับคุณปิยะพงษ์ แย้มละออ หลังจากนั้นหลวงพ่อได้ประชุมประชาชนที่อยู่ในละแวกนั้นเพื่อให้ทราบเรื่องการสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอบางปลาม้า
ในระยะแรก ๆ ท่านสาธารณสุขอำเภอกับคณะ ก็ไปเที่ยวสืบเสาะหาสถานที่ ๆ เหมาะสมแห่งอื่น ๆ อีกหลายแห่ง และมี 2-3 แห่ง มีผู้เสนอจะให้ที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาล ท่านก็ได้รับไว้พิจารณา แต่ว่าสถานที่ที่เสนอมานั้น ยังขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดท่านสาธารณสุขอำเภอ จึงมาพบพระครูภาวนาภิมณฑ์อีกครั้ง หนึ่ง โดยแจ้งกับหลวงพ่อว่า ที่นาที่อยู่ตรงหลังวัดกลางนี้ เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ทุกประการ ขอให้หลวงพ่อช่วยเหลือในการเจรจากับเจ้าของที่ดินเพราะเห็นว่าหลวงพ่อเป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ที่ดินผืนดังกล่าวนี้ อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดกลาง เป็นทุ่งนามีเนื้อที่กว้างขวางมาก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อได้รับการขอร้องจากท่านสาธารณสุขอำเภอดังนั้น หลวงพ่อจึงได้ปรึกษากับ จ.ส.ต.ประเสริฐ โพธิ์ทอง ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของวัดกลาง ให้ไปช่วยสืบดูว่าที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของใครบ้าง และเจรจาขอบริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ หลังจากที่ไปสืบดูพบว่าที่ดินบริเวณนี้มีเจ้าของที่ดิน 5 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นหญิงหม้าย มีบุตรธิดา ที่ต้องเลี้ยงดู การที่จะขอให้บริจาคที่ดินให้แก่ทางราชการฟรี ๆ นั้นไม่ได้ แต่ถ้าซื้อขายราคาที่ดินแถวนี้ราคาประเมิน ไร่ละ 150,000 บาท ( หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ) จะต้องใช้เงินถึง 2 ,500,000 บาท ( สองล้านห้าแสนบาท ) ซึ่งหลวงพ่อคิดว่าไม่สามารถหาเงินมาได้แน่ หลวงพ่อจึงพูดกับเจ้าของที่ดินทั้ง 5 คน ขอให้คิดว่า เราไม่ได้มาซื้อขายกัน เราถวายเป็นบุญกุศลด้วย ในภายหน้าจะเป็นสาธารณประโยชน์ส่วนรวมที่จะช่วยบำบัดความทุกข์ยาก เดือดร้อนของผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นการสร้างบุญที่ยิ่งใหญ่ จึงขอให้รับค่าสมนาคุณไปแต่พอสมควร หลวงพ่อจึงขอสมนาคุณที่ดินดังกล่าวในราคาไร่ละ 10,000 - 20,000 บาท ตามจำนวนที่ดินที่เหลืออยู่ คุณยายเจ้าของที่ดินทั้ง 5 คน ซึ่งมีพระคุณแก่ชาวอำเภอบางปลาม้าและละแวกใกล้เคียง นี้ ได้แก่.
1. | คุณยายเชื่อม เปรมปรี | ที่ดินจำนวน 2,405 ตารางวา |
2. | คุณยายทองหยิบ มณีอินทร์ | ที่ดินจำนวน 680 ตารางวา |
3. | คุณยายสุนันทา ศรีดี | ที่ดินจำนวน 820 ตารางวา |
4. | คุณยายชลอ ไวยสุตรา | ที่ดินจำนวน 1,450 ตารางวา |
5. | คุณยายน้ำค้าง ทองเลิศ | ที่ดินจำนวน 1,490 ตารางวา |
หลังจากที่ตกลงเรื่องที่ดินกันเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อได้แจ้งให้ท่านสาธารณสุขอำเภอทราบ และลงมาสำรวจข้อมูลที่ดิน เพื่อให้ทางอำเภอพิจารณาคัดเลือกที่ที่เหมาะสม ร่วมกับที่ดินผืนอื่น ๆ ที่มีผู้เสนอมา และทางอำเภอได้ทำหนังสือเสนอต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเสนอต่อไปในกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2524 พระครูภาวนาภิมณฑ์ ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมส่งข้อมูลการสำรวจสถานที่ของสาธารณสุขอำเภอบางปลาม้า เพื่อขอให้มีการจัดสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอบางปลาม้า ในพื้นที่หลังวัดกลาง
ระหว่างที่รอเรื่องการสร้างโรงพยาบาลซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร พระครูภาวนาภิมณฑ์ จึงได้ตกลงทำหนังสือซื้อขายที่ดินทุกรายเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2524 และมอบเงินให้กับเจ้าของที่ดิน จำนวน 211,475 บาท ( สองแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยเจ็ดสิบห้าบาท ) โดยยืมเงินทุนนิธิบำรุงการศึกษาของวัดกลางไปก่อน
ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ.2524 จนถึงเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2524 ยังไม่มีข่าวเรื่องผลการคัดเลือกที่ดินผืนที่จะสร้างโรงพยาบาล เพราะเหตุผลประการใดไม่สามารถทราบได้ ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2524 หลวงพ่อได้ติดตามสอบถามเรื่องการคัดเลือกสถานที่สร้างโรงพยาบาลถึงในกระทรวงสาธารณสุข จนคิดว่าคงไม่มีการสร้างโรงพยาบาลในที่ดินผืนนี้แล้ว
อยู่ ๆ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2524 มีวิทยุด่วนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ถึงสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางปลาม้า แจ้งว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติให้ใช้ที่ดินตรงข้ามวัดกลาง เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอบางปลาม้า ให้รีบดำเนินการโดยด่วน กว่าจะหักโอนที่ดินเรียบร้อยก็เลยไปถึงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2524 และต้องใช้เวลาถมดินอีก 1 เดือน สิ้นค่าถมดินไปอีก 245,998 บาท (สองแสนสี่หมื่นห้าพันเก้าร้อยเก้าสิบแปดบาท) ซึ่งเป็นเงินบริจาคจากพี่น้องประชาชน เมื่อสถานที่พร้อมแล้วทุกอย่าง แต่การสร้างยังดำเนินการไม่ได้เพราะยังไม่มีการเปิดประมูลราคาการก่อสร้าง ไม่ทราบเพราะเหตุใดอีกแล้ว
จนกระทั่งวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2525 นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ได้เดินทางมาอำเภอบางปลาม้าเป็นกรณีพิเศษ เพื่อมาดูสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาล หลังจากนั้นการประมูลราคาก่อสร้างโรงพยาบาลบางปลาม้า ก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2525 และมีกำหนดวันวางศิลาฤกษ์ โรงพยาบาลประจำอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2525 เวลา 16.09 น. โดยมี นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วางศิลาฤกษ์ และตอกเสาเข็มร่วมกัน
ท่านผู้ใหญ่ฝ่ายสงฆ์ที่มาร่วมในงาน อาทิเช่น
พระเทพวุฒาจารย์ | เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี | วัดสุวรรณภูมิ |
พระวิสุทธิสารเถระ | พระวิปัสสนาจารย์ | วัดป่าเลไลยก์ |
พระสุวรรณโมลี | รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี | วัดศรีบัวบาน |
พระครูวาทีธรรมคุณ | เจ้าคณะอำเภอบางปลาม้า | วัดลานคา |
พระครูสุมนคณารักษ์ | พระวิปัสสนาจารย์ | วัดสวนหงษ์ |
พระครูสุนทรธรรมาภิรัติ | เจ้าคณะตำบลโคกคราม | วัดลาดหอย |
พระครูเขมวิริยะกิจ | เจ้าอาวาส | วัดสามัคคีธรรม |
พระครูสุวรรณคุณากร | เจ้าอาวาส | วัดบางยี่หน |
พระครูภาวนาวิกรม | เลขาเจ้าคณะจังหวัดฯ | วัดปราสาททอง |
การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 และเปิดให้บริการตรวจรักษา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2526