ความทรงจำโรงพยาบาลบางปลาม้า

อ้างอิงจาก หนังสือ สองทศวรรษ โรงพยาบาลบางปลาม้า

เขียนโดย : ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

Example blog post alt

ประวัติโรงพยาบาลบางปลาม้า

โรงพยาบาลบางปลาม้า เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่านเจ้าพระยายมราช เสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 และโดยเฉพาะ ฯพณฯ เป็นข้าราชการคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน จังหวัดสุพรรณบุรี จึงเป็นจังหวัดในประเทศสยาม ในขณะนั้น ที่มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลประจำจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลประจำจังหวัดระนอง โรงพยาบาลประจำจังหวัดอยุธยา โรงพยาบาลเหล่านี้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2469

ประเทศไทยมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดครบทุกจังหวัด เมื่อ พ.ศ.2494 ถึง พ.ศ.2500 สมัย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูล พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้สร้างกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ใน พ.ศ.2485 โดยอาศัยอยู่ในวังสุโขทัย สามเสน

ก่อนเป็นกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรมก่อน ชื่อ กรมสาธารณสุข อยู่ในกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ถนนบำรุงเมือง

เหตุการณ์ของประเทศหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศนโยบายการสาธารณสุขว่า รัฐบาลจะปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณสุขแห่งชาติ ให้ตรงกับความประสงค์ของประชาชนและจะขยายเขตบริการ ให้ถึงประชาชนในส่วนภูมิภาคให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

องค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ.2520 ประกาศนโยบายสำคัญให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดีให้ได้ทุกคน ถือนโยบาย “Health for all by the year” 2000 หรือสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี พ.ศ.2543

ในการทำนโยบาย “สุขภาพดีถ้วนหน้าในปี พ.ศ.2543" นั้น ในการประชุมอนามัยโลกที่เมืองอาสปา อาตา สหภาพโซเวียต เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2521 นั้น ต้องอาศัยหลักการ” สาธารณสุขมูลฐาน” (Primary Health Care) ซึ่งประกอบด้วยบัญญัติ 10 ประการ คือ

  1. การให้สุขศึกษา
  2. การโภชนาการ
  3. สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
  4. การมารดาและทารกสงเคราะห์
  5. การให้ภูมิคุ้มกัน
  6. การควบคุมโรคประจำท้องถิ่น
  7. การให้บริการพื้นฐานสาธารณสุข คือ อาสาสมัคร
  8. การจัดยาหลัก รวมทั้งสมุนไพร
  9. ทันตสาธารณสุข
  10. สุขภาพจิต

ฉะนั้น จะเห็นว่าในการต้องจัดหาบริการทั้ง 10 ประการนี้ได้จำเป็นต้องมี “โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ” จึงเกิดมีโรงพยาบาลบางปลาม้าเกิดขึ้น ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวน 3,802,500 บาท ใน พ.ศ.2525

คนไทยโบราณมักชอบเรียกถิ่นที่อยู่ว่า บาง เช่น บางกอก บางปลาม้า บางปลากด บางปลาหัน บางปลาสร้อย บางปลาปิ้ง เป็นต้น

โรงพยาบาลบางปลาม้า ในปี พ.ศ.2525 คณะศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงประทับที่วัดโพธิ์ ชาวบ้านถวายพระนาม “สมเด็จเตี่ย” ได้ไปพบกระผมที่กระทรวงสาธารณสุขวังเทวเวศ ขอหารือว่าสมเด็จท่านประสูติ ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี คณะศิษย์มีความเห็นตรงกันว่าถ้าทางราชการจะสร้างโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ เพื่อถวายเป็นการกุศลและเป็นมงคลแก่ประชาชนแห่งอำเภอนั้น พอดีทางราชการมีโครงการจะสร้างโรงพยาบาลชุมชนให้ครบทุกอำเภออยู่แล้ว สิ่งที่ควรต้องขวนขวายคือ ผืนที่ดินที่จะมีผู้ศรัทธาจะอุทิศให้เพื่อการกุศล

กระผมและเจ้าหน้าที่จึงออกเดินทางไปบางปลาม้าโดยความปรารถนาอีกอย่าง คือสนใจอยากเห็นปลาม้าอีกด้วย

ตลาดบางปลาม้า อยู่ริมแม่น้ำเห็นอาคารปลูกสร้างเป็นอาคารสองชั้น และได้รับคำบอกเล่าว่าเป็นประเพณีของตลาดในหน้าแล้งน้ำลดจากตลิ่ง กิจกรรมค้าขายจะกระทำในชั้นล่างของอาคาร ส่วนในหน้าฝน ระดับน้ำสูง กิจกรรมการค้าขายจะกระทำในอาคารชั้นบน เป็นปรากฎการณ์ที่แปลกน่าศึกษา

ฉะนั้นการสร้างโรงพยาบาลติดลำน้ำเหมือนโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ณ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงไม่สมควร ด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่งท่านพระครูสุมณฑ์ภาวนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดกลาง เจ้าคณะอำเภอบางปลาม้า กรุณามอบที่ดินเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา ตั้งอยู่บนถนนสายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า เป็นที่สูงเป็นโคก แต่ห่างไกลจากตลาดริมน้ำ อันเป็นที่ชุมชน เป็นศูนย์ของการค้าและการสังคม ประชาชนต้องเดินทางไกลไปรับบริการ แต่ตรงตามหลักของการสร้างเป็นโรงพยาบาล เพราะน้ำจะไม่ท่วม จึงต้องยกมือกราบท่านพี่น้องประชาชนขอให้อดทนในเรื่องระยะทางเดิน เพราะเคยเห็นการสร้างโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เมื่อ พ.ศ.2480 มาแล้ว ที่ว่าไกลตัวเมืองนั้นภายในไม่กี่ปีโรงพยาบาลกลายเป็นชุมชนไปได้ เหตุการณ์เช่นนี้ก็เป็นจริงสำหรับโรงพยาบาลบางปลาม้า การก่อสร้างโรงพยาบาลบางปลาม้า จึงต้องเริ่มในปี พ.ศ.2525 เป็นโรงพยาบาล 10 เตียง ด้วยงบประมาณ 3,802,500 บาท แล้วเปิดบริการรับใช้พี่น้องประชาชนบางปลาม้าเป็นต้นมา ด้วยความมานะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะรับใช้พี่น้องบางปลาม้า ไม่ว่าจะเช้า-สาย-บ่าย-เย็นและกลางคืน ทำให้จำนวนคนเจ็บป่วยทั้งในอำเภอและนอกอำเภอต่างบ่ายหน้ามารับบริการอย่างเนืองแน่น ผิดความคาดหมาย

Example blog post alt

ในปี 2535 หรือ 10 ปี ต่อมา บริการอันถูกใจ พี่น้องประชาชนในตัวอำเภอและนอกอำเภอ ทำให้สถานบริการนั้นคับแคบไม่พียงพอทางราชการจึงอนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่ จำนวน 13,188,000 บาท พร้อมทั้งเงินบำรุงโรงพยาบาลเอง อีก 453,990 บาท ที่เป็นเงินสะสมจากความเหนื่อยยากของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกระดับ นอกจากนี้ท่านพระครูสุมณฑ์ภาวนานุรักษ์ และผู้ศรัทธาในอำเภอและอำเภอใกล้เคียงบริจาคสมทบอีก 700,000 บาท ในปี พ.ศ.2535 จึงเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง

Example blog post alt

ในปี พ.ศ.2540 โรงพยาบาลบางปลาม้า มีผู้นิยมมาคลอดบุตรกันมากมาย “อาคารผู้ป่วยคลอด” จึงกำเนิดขึ้นด้วยความกรุณาและศรัทธาในผลงานของโรงพยาบาล คุณสัมพันธ์ - ขวัญเมือง พลสินธุ์ ได้บริจาคเงิน 4,620,000 บาท เพื่อเป็นการสนองนโยบาย “สาธารณสุขมูลฐาน” ข้อ “การมารดาและทารกสงเคราะห์รวมด้วยการวางแผนครอบครัว” อีกด้วย

Example blog post alt

ในปี พ.ศ.2542 ท่านพระครูสุมณฑ์ภาวนานุรักษ์ และผู้มีจิตศรัทธา ในอำเภอบางปลาม้าและอำเภอใกล้เคียง บริจาคเงิน 7,831,700 บาท เพื่อสร้างอาคารพิเศษ ขนาด 16 ห้อง เป็น “อาคารสงฆ์อาพาธ” แยกพระคุณเจ้าไม่ต้องปะปนกับประชาชนทั่วไป

ในปี พ.ศ. 2543 ความสามารถอันสูงส่งของเจ้าหน้าที่ทุกระดับของโรงพยาบาลบางปลาม้า และด้วยความสนับสนุนของพระเดชพระคุณ พระครูสุมณฑ์ภาวนานุรักษ์ และด้วยพลังของชุมชนในการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่พึ่งตนเองได้เป็นอย่างดียิ่ง ทางราชการจึงยกย่องให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 60 เตียง ด้วยความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ความสำเร็จของโรงพยาบาลบางปลาม้า ครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างของ “ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน” อันแน่แท้ แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนกว่า 700 แห่ง ในปัจจุบัน

บทส่งท้าย

กระผมในฐานะผู้ร่วมให้การสนับสนุนโรงพยาบาลแห่งนี้ ขอกราบแด่พระเดชพระคุณท่านพระครูสุมณฑ์ภาวนานุรักษ์ และท่านผู้บริจาคทุกท่าน ขอให้มีสุขภาพดีทั้งกายใจ สุขภาพทางสังคม สุขภาพทางจิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อชีวิต

ขอให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางปลาม้าทุกท่าน ถึงพร้อมด้วยพลัง 5 ประการ คือ

  • ศรัทธา ความเชื่อ (Confidence)
  • วิริยะ ความเพียร (Evergy)
  • สติ การรำลึกได้ (Mindfulness)
  • สมาธิ ตั้งจิตมั่น (Concentration)
  • ปัญญา ความรู้ทั่วชัด (Wisdom)

ขอจงเป็นสุข เป็นสุข โดยทั่วกัน เทอญ (Wisdom)

Example blog post alt